รายงานของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ปี 2567
เรียน ท่านผู้ถือหุ้น บริษัท ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยงได้ดำเนินการประชุมทั้งหมด 4 ครั้ง เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงขององค์กรให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด โดยคณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กร วางแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยง และติดตามผลการดำเนินงานของมาตรการความเสี่ยง รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงแนวทางการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รายชื่อ | ตำแหน่ง | จำนวนครั้งที่เข้าประชุม |
1. นาย บวรรัฐ วนดุรงค์วรรณ | ประธานคณะกรรมการชุดย่อย | 4 |
2. นายศักดา ตั้งจิตวัฒนากร | กรรมการชุดย่อย | 4 |
3. นาง ตีรวรรณ วนดุรงค์วรรณ | กรรมการชุดย่อย | 4 |
4.นาง พรรณี กันณีย์ | กรรมการชุดย่อย | 4 |
5. นาง สุณีย์ จ้อยจำรัส | กรรมการชุดย่อย | 4 |
6. นางสาว รัชรินทร์ บุญเรือง | กรรมการชุดย่อย | 4 |
ในปี 2567 คณะกรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยงได้ดำเนินการประชุมทั้งหมด 4 ครั้ง โดยผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการมีสาระสำคัญ ดังนี้:
1. กำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการได้กำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย โดยครอบคลุมถึงความเสี่ยงในหลายด้าน อาทิ ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Risk), ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ (Operational Risk), ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risk), ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและกฎหมาย (Compliance Risk), ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) และความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและชื่อเสียงของบริษัทฯ และบริษัทย่อย โดยได้นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
2. กำหนดนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยงในโรงพยาบาล คณะกรรมการได้กำหนดนโยบายและเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงในโรงพยาบาล ซึ่งรวมถึงการวัดความเสี่ยงและการกำหนดเพดานความเสี่ยงที่บริษัทฯ และบริษัทย่อยสามารถยอมรับได้ เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงในภาคส่วนนี้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
3. พิจารณาความเสี่ยงที่สำคัญและการจัดการ คณะกรรมการได้พิจารณาความเสี่ยงที่สำคัญของบริษัทฯ และบริษัทย่อย โดยได้เสนอแนะแนวทางการป้องกันหรือการลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ พร้อมทั้งพัฒนากระบวนการในการจัดการความเสี่ยงให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจ
4. ติดตามและปรับปรุงแผนการลดความเสี่ยง คณะกรรมการได้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งปรับปรุงแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาทบทวน
5. ความเพียงพอของนโยบายและระบบบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการได้ทบทวนความเพียงพอของนโยบายและระบบการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนด โดยมุ่งเน้นประสิทธิผลในการลดความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม
6. รายงานการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยง คณะกรรมการได้รายงานผลการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริษัทฯ และในกรณีที่มีเรื่องสำคัญที่กระทบต่อบริษัทฯ และบริษัทย่อยอย่างมีนัยสำคัญ คณะกรรมการได้รายงานให้คณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาโดยเร่งด่วน
7. ทบทวนกฎบัตรของคณะกรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการได้ทบทวนและปรับปรุงกฎบัตรของคณะกรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
คณะกรรมการกำกับการบริหารความเสี่ยงได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ โดยการพิจารณาและติดตามการบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและชื่อเสียงขององค์กรอย่างยั่งยืน