“ เต้านม ” เรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
โรคเต้านม เป็นโรคที่ผู้หญิงควรมีการตื่นตัว และรู้ทันอาการต่าง ๆ เพื่อลดภาวะความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และทางเครือโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เตรียมเครื่องมือการตรวจรักษาที่ทันสมัย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในการทำหัตถการโรคจากเต้านม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำความรู้จักกับ “ เต้านม ”
ในร่างกายของผู้หญิงเรา “ เต้านม ” เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่อยู่บริเวณหน้าอกทั้งสองข้าง และมีการพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการปรับตัวของฮอร์โมนเพศ ซึ่งลักษณะเต้านมของผู้หญิงแต่ละคนนั้นจะมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันคือ หัวนม ลานหัวนม ต่อมน้ำนม และท่อน้ำนม ซึ่งจะคลุมด้วยผิวหนังและเนื้อเยื่อไขมัน
การเจริญเติบโตของเต้านม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
1.วัยแรกรุ่น
2.วัยเจริญพันธุ์
3.ช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
4.วัยทอง
ปัจจัยที่ทำให้เต้านมเกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจมีสาเหตุหลักจากช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้อาจสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น การขึ้น-ลงของน้ำหนัก ช่วงมีประจำเดือน การคลอดบุตร เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจและสรีระร่างกาย เพราะความเต่งตึงที่ลดลงทำให้ผู้หญิงขาดความมั่นใจ นอกจากนี้ เต้านมยังเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน ผู้หญิงทั้งหลายจึงควรให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลไม่แพ้อวัยวะส่วนอื่น เพื่อระมัดระวังโรคร้ายที่จะเกิดขึ้นได้
ความผิดปกติหรืออาการต่าง ๆ ของโรคเต้านม
1. เต้านมเกิน จะพบเป็นก้อนเนื้อห้อยบริเวณรักแร้ ภาวะนี้จะเห็นได้ชัดเมื่ออายุมากขึ้น แต่ไม่มีอันตรายใด ๆ สามารถผ่าตัดออกได้เพื่อให้ให้เกิดความสวยงาม
2. เต้านมโตไม่เท่ากัน เป็นลักษณะของเต้านมที่เล็กข้างใหญ่ข้าง เนื่องจากความหนาแน่นของเนื้อเยื่อเต้านมไม่เท่ากัน ซึ่งภาวะที่ไม่ร้ายแรง สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ โดยผ่าตัดลดขนาดของเต้านมข้างที่ใหญ่ลง หรือผ่าเพื่อเสริมข้างที่เล็กให้ใหญ่ขึ้น
3. เต้านมมีขนาดโตผิดปกติ มักจะเกิดในวัยสาว ช่วงอายุ 13-35 ปี เต้านมจะขยายโตมากกว่าปกติ ซึ่งการที่ช่วงวัยรุ่นมีเต้านมขนาดใหญ่นั้นจะมีผลทางด้านจิตใจ และอาจส่งผลกระทบกับร่างกายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากการที่เต้านมที่มีการขยายตัวมากเกินทำให้น้ำหนักของเต้านมนั้นมากขึ้นไปด้วย บางคนจึงมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ หรือมีจุดอับชื้นที่บริเวณราวนมได้ หากมีอาการดังกล่าว แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขขนาดเต้านมให้เล็กลง
4. หัวนมบอด เป็นอาการที่หัวนมหดสั้นหรือบุ๋มลงไปในเต้านม และมีเนื้อเยื่อพังผืดดึงรั้ง ซึ่งเป็นความผิดปกติในช่วงการพัฒนาของเต้านม ทำให้การดูแลทำความสะอาดลำบาก และเกิดการติดเชื้อได้ง่าย และหากมีบุตร ก็จะมีปัญหาในการให้นม ซึ่งในรายที่เป็นไม่มากสามารถแก้ไขโดยการดึงบ่อย ๆ แต่หากยังไม่หายให้รีบมาปรึกษาแพทย์ทันที
5. การปวดเต้านมตามรอบเดือน เป็นอาการที่เกิดการปวดร้าวขึ้นบริเวณเต้านม อาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นอาการของมะเร็งเต้านม ซึ่งความจริงแล้วมะเร็งเต้านมนั้น จะตรวจพบก้อนเนื้อขึ้น แต่ไม่ค่อยพบว่าจะเกิดการปวด ดังนั้นหากมีอาการปวดเต้านมเพียงอย่างเดียวนั้น และอาการไม่มาก ไม่จำเป็นต้องไปเข้ารับการรักษา เพราะอาการนั้นจะค่อยทุเลาไปเอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แต่ถ้าหากว่ามีอาการปวดมาก ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
6. เนื้องอกชนิดธรรมดา เนื้องอกชนิดนี้เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศ ในช่วงที่มีการพัฒนาเต้านม ซึ่งก้อนเนื้อนี้จะค่อย ๆ โตขึ้นอย่างช้า ๆ และไม่มีอาการเจ็บปวด ก้อนเนื้อจะมีลักษณะกลิ้งไปกลิ้งมา หากเกิดก้อนเนื้อลักษณะดังกล่าว ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
7. ซีสต์หรือถุงน้ำที่เต้านม เป็นอาการที่เกิดจากการที่เต้านมสร้างสารน้ำต่าง ๆ ขึ้นมาในช่วงของการมีประจำเดือน และสารน้ำนั้นมีการดูดกลับคืนไม่สมดุล จึงเกิดเป็นถุงน้ำค้างอยู่ และอาจจะมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย ซึ่งบางครั้งอาจมีอาการปวดร่วมด้วย โดยซีสต์หรือถุงน้ำนั้นอาจจะหายไปเอง แต่โตขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นใหม่อีกก็ได้ หากมีอาการโตมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที
8. มะเร็งเต้านม เกิดจากเนื้อเยื่อของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็ง และเป็นก้อนเนื้อขึ้นบริเวณเต้านม ซึ่งเป็นภาวะเสี่ยงที่รุนแรงสำหรับผู้หญิง ถ้าตรวจพบในระยะเริ่มแรกอาจมีโอกาสหาย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามจนเกิดอาการผิดปกติที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น ได้แก่ การมีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนม มีแผลที่ลานหัวนม ผิวหนังของเต้านมบวม และก้อนเนื้อจะมีขนาดโตขึ้นเรื่อย ๆ ในรายที่เป็นมาก เนื้อมะเร็งบางส่วนจะเน่าตาย ทำให้เกิดเป็นแผลขยายกว้าง และมีกลิ่นเหม็นจัด จนยากแก่การรักษา นอกจากนั้น มะเร้งยังกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ได้ ทำให้ผลการรักษาไม่ดี
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่มีอายุ 20-40 ปี ควรหมั่นตรวจสอบเต้านมของตัวเองอยู่เสมอ อาจทำได้ดังนี้ ขั้นแรก สังเกตด้านกายภาพหน้ากระจก โดยยืนหน้าตรง ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย เพื่อดูความผิดปกติของเต้านมทั้งสองข้าง ขั้นต่อไป ยกมือ ( ทำท่ายอมแพ้ ) หาความผิดปกติหรือรอยบุ๋ม และขั้นที่สาม ยืนเท้าเอว เกร็งอก แล้วโค้งตัวมาด้านหน้าเพื่อมองหาความผิดปกติของเต้านมที่ห้อยลงมาข้างหน้า ขั้นต่อไปให้นอนในท่าสบายโดยยกแขนที่ต้องการตรวจขึ้นเหนือศีรษะ และใช้แขนตรงข้ามตรวจตั้งแต่ใต้ท้องแขนจนถึงใต้ขอบล่างของเสื้อใน คลำตลอดแนวขวางถึงกระดูกกลางหน้าอก คลำขึ้นไปจนถึงกระดูกไหปลาร้าและกลับลงมาจนถึงกึ่งกลางรักแร้ ต่อไปให้ใช้นิ้ว 3 นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และ นิ้วนาง วางชิด เสมอกัน กดคลำให้ทั่วทั้งเต้านมและรักแร้ในลักษณะวนเป็นก้นหอยเล็กๆ หรืออาจจะใช้วิธีคลำเป็นรัศมีรัศมีวงกลม วนออกจากหัวนมจนทั่วทั้งเต้านม เพื่อตรวจดูว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่ หากมีก้อนเนื้อเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
การทำหัตถการโรคจากเต้านม ของกลุ่มโรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล
1. การตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์ ( Mammogram & Ultrasound)
- มีข้อดีคือ สามารถตรวจ เช็ค เนื้องอกและมะเร็ง ได้ในระยะเริ่มต้น
2. การเจาะถุงน้ำ ( Cyst Aspiration )
3. การเจาะ ตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจวินิจฉัย ( Core Needle Biopsy )
4. การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจวินิจฉัย ( Incisional Biopsy )
5. การผ่าตัดก้อนที่เต้านม ( Excision Mass )
6. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ( Simple Mastectomy )
7. การตัดเต้านมออกทั้งหมด และการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ( Mastectomy + Axillary Lymph Node Dissection )
8. การตัดเต้านมออกบางส่วน และการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ( Partial Mastectomy + Lymph Node Dissection )
9. การตัดเต้านมออกทั้งหมด และการฉีดสีเพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ( Mastectomy + Sentinel Lymph Node Biopsy)
10. การตัดเต้านมออกบางส่วน และการฉีดสีเพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ ( Partial Mastectomy + Sentinel Lymph Node Biopsy )
11. การผ่าตัดแบบเสริมเต้านม ( Breast Reconstruction )
การดูแลเต้านมหลังผ่าตัด
สำหรับผู้หญิงที่ได้รับการทำหัตถการโรคของเต้านม เช่น เจาะถุงน้ำ ผ่าตัดเนื้องอก ผ่าต่อมน้ำเหลือง ผ่าตัดก้อนมะเร็งบางส่วนออก ฯลฯ แพทย์จะแนะนำให้บริหารหน้าอก เพื่อลดอาการบวม หรือเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยการบีบและคลายลูกบอลยาง ขนาดเท่าลูกเบสบอลทุกวัน วันละ 2-3 นาที ทั้งแขนซ้ายและขวา
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าตัด
1. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ๆ ในเวลานาน
2. หลีกเลี่ยงการเจาะเลือด หรือวัดความดัน ข้างเดียวกับเต้านมที่ได้รับการผ่าตัด
3. หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่รัดแขน สวมกำไล นาฬิกา หรือแหวน ข้างเดียวกับเต้านมที่ได้รับการผ่าตัด