หน้า 1 จากทั้งหมด 1

โรคช็อกโกแลตซีสต์

โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 20 ม.ค. 2557 11:54 am
โดย vichaivej_admin
โรคช็อกโกแลตซีสต์ ภัยร้ายของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
โรคช็อกโกแลตซีสต์ อาจเป็นโรคที่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ ซึ่งในทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยกับผู้หญิงทุกคน ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากเกิดโรคดังกล่าวขึ้น จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ทำความรู้จักกับโรคช็อกโกแลตซีสต์

ซีสต์ หมายถึง ถุงน้ำ ช็อกโกแลตซีสต์ จึงหมายถึง ถุงน้ำของรังไข่ที่มีของเหลวอยู่ภายในและมีลักษณะเหมือนช็อคโกแลตเหลว ซึ่งความจริงก็คือ ถุงเลือดนั่นเอง โดยอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นถุงน้ำช็อกโกแลต ได้แก่ อาการปวดประจำเดือน อาการปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ในบางคนอาจพบก้อนที่ท้องน้อย หรืออาจมีอาการเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด เป็นต้น


ซึ่งวัยที่พบโรคช็อกโกแลตซีสต์มากที่สุดคือ ผู้หญิงอายุระหว่าง 15-45 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีประจำเดือน สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนจะพบโรคนี้น้อยมากไม่เกิน 5% นอกจากนี้ โรคช็อกโกแลตซีสต์ ยังเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะการมีบุตรยากอีกด้วย

สาเหตุของโรค
1. เกิดจากการที่ประจำเดือนมีการไหลย้อนกลับ คือ แทนที่ประจำเดือนจะไหลออกมาทางช่องคลอดตามปกติ อาจจะมีเลือดบางส่วนไหลย้อนกลับเข้าไปผ่านทางมดลูกและปีกมดลูก และเข้าไปฝังตัวอยู่ในรังไข่ จนเจริญเติบโตและเกิดเป็นถุงน้ำขึ้น ซึ่งเมื่อค้างอยู่นานจะกลายเป็นสีน้ำตาล ซึ่งมีลักษณะเหมือนช็อกโกแลต
2. เกิดจากการไหลไปตามเส้นเลือดหรือหลอดน้ำเหลือง บางครั้งพบว่ามีเยื่อบุโพรงมดลูกไปเกาะอยู่ตามชายปอดซึ่งอยู่ไกลจากมดลูกมาก จึงเชื่อว่าอาจจะไหลไปตามเส้นเลือด แต่สาเหตุนี้มีคนเชื่อถือน้อยเพราะพบได้ไม่บ่อย
3. เกิดจากการเจริญเติบโตผิดตำแหน่งของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
4. เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

การรักษา

การรักษาโรคช็อกโกแลตซีสต์ หลัก ๆ จะมี 3 วิธี คือ การใช้ยา การผ่าตัด หรือใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน โดยวิธีการรักษานั้นจะคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน อาทิ อาการ อายุ และความรุนแรงของโรค ซึ่งการรักษาแบบใช้ยา จะมีทั้งการใช้ยาในกลุ่มที่มีฮอร์โมนและไม่มีฮอร์โมน ส่วนการผ่าตัดก็มีทั้งวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งวิธีการผ่าตัดส่องกล้องจะมีข้อดีคือ แผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องทำการผ่าตัดโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น