โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus)
ไข้หวัดใหญ่ เป็นการติดเชื้อโดยระบบทางเดินหายใจ วิธีการติดต่อได้แก่ การไอหรือจาม เชื้อจะเข้าทางเยื่อบุตาและปาก สัมผัสเสมหะของผู้ป่วยทางแก้วน้ำ ผ้า จูบ สัมผัสทางมือที่ปนเปื้อนเชื้อโรค
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
ระยะฟักตัวประมาณ1-4 วันเฉลี่ย 2 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียอย่างเฉียบพลัน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดศรีษะอย่างรุนแรง ปวดแขนขา ปวดข้อ ปวดรอบกระบอกตา ไข้สูง 39-40 องศา เจ็บคอ คอแดง มีน้ำมูกไหล ไอแห้งๆ ตาแดง อาการไข้ คลื่นไส้อาเจียนจะหายใน 2 วัน แต่ อาการน้ำมูกไหลคัดจมูกอาจจะอยู่ได้ 1 สัปดาห์ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงมักจะเกิดในผู้สูงอายุหรือ มีโรคประจำตัว อาจจะพบว่ามีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อย หอบ อาจจะมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะปวดศรีษะ ซึมลง หมดสติ ระบบหายใจอาจจะมีอาการของโรคปอดบวม จะหอบหายใจเหนื่อย โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่จะหายในไม่กี่วัน แต่บางรายซึ่งอาจจะมีอาการปวดข้อและไอได้ถึง 2 สัปดาห์
โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ
ผู้ป่วยอาจจะมีอาการกำเริบของโรคที่เป็นอยู่ เช่นหัวใจวาย มีการติดเชื้อ แบคทีเรียซ้ำ เช่น ปอดบวม ฝีในปอด เชื้ออาจจะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
การรักษา
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะหายเอง หากมีอาการไม่มากอาจจะดูแลเองที่บ้าน วิธีการดูแลมีดังนี้ ให้นอนพักไม่ควรจะออกกำลังกาย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือดื่มน้ำผลไม้ ไม่ควรดื่มน้ำเปล่ามากเกินไปเพราะจะทำให้ขาดเกลือแร่ รักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทาน paracetamol ไม่แนะนำให้ aspirinในคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีเพราะอาจจะทำ ให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Reye's syndrome ถ้าไอมากก็รับประทานยาแก้ไอ แต่ในเด็กเล็กไม่ควรซื้อ ยารับประทาน สำหรับผู้ที่เจ็บคออาจจะใช้น้ำ 1 แก้วผสมเกลือ 1 ช้อนกรวกคอ อย่าสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะอาจจะทำให้เชื้อลุกลาม ในช่วงที่มีการระบาดให้หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์สาธารณะ ลูกบิด ประตู เวลาไอหรือจามต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูก ช่วงที่มีการระบาดให้หลีกเลี่ยง สถานที่สาธารณะ
การป้องกัน
ล้างมือบ่อยๆ อย่าเอามือเข้าปากหรือขยี้ตา, อย่าใช้ของส่วนตัว เช่นผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น, หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย, ให้พักที่บ้านเมื่อเวลาป่วย, เวลาไอจามใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก
โดย ทีมส่งเสริมสุขภาพ
รพ.วิชัยเวชฯ อ้อมน้อย
โทร 02 431 0070